วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสมุนไพร


       ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ได้มีการบันทึกเรื่องความเป็นพิษของยาสมุนไพรจีน ไว้ในเภสัชตำรับของจีน (Chinese Pharmacopoeia) ซึ่งยาสมุนไพรจีนจำนวน 365 ชนิด มีที่มาจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ในจำนวนนี้พบว่าสมุนไพรจีน 125 ชนิด มีความเป็นพิษและทำให้เกิดอาการข้างเคียง ดังนั้นจึงควรใช้ยาสมุนไพรด้วยความระมัดระวัง คือ แนะนำให้ใช้รักษาโรคบางชนิดเท่านั้น และควรใช้ในขนาดที่ปลอดภัย เพื่อลดความเป็นพิษ ทั้งนี้ไม่ควรใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของยาสมุนไพรจะต้องคำนึงถึงความเป็นพิษเป็นสำคัญ

            มีรายงานว่าการรับประทานยาสุมนไพรจีนชนิดหนึ่ง    เพื่อลดความอ้วน    ที่ประกอบด้วย aristolochic acid ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อไต นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ายาสมุนไพรจีนที่ประกอบด้วย aristolochic acid ซึ่งได้มาจากรากของพืช Aristolochiae fangchi (Guang fangji) ก็ทำให้เกิดพิษต่อไต ความเป็นพิษของยาสมุนไพรยังอาจเกิดขึ้นจากความหลากหลายขององค์ประกอบทางเคมีที่มีทั้งสารสำคัญที่ออกฤทธิ์เป็นยาและสารพิษ การได้รับยาเกินขนาด การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับสมุนไพร (drug–herb interaction) การเกิดโรคร่วมกันหลายโรค (coexisting disease) และความผิดปกติในการตอบสนองต่อยาที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวของผู้ป่วย (idiosyncratic reaction)

            การควบคุมคุณภาพมาตรฐานยาสมุนไพร มีความสัมพันธ์กับอาการไม่พึงประสงค์และความเป็นพิษ ซึ่งอาจเกิดจากการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง โลหะหนัก และจุลชีพต่าง ๆ การปลอมปนด้วยยาแผนปัจจุบัน (เช่น ยาสเตียรอยด์ และยาแก้ปวด) การพิสูจน์เอกลักษณ์ของพืชที่ผิดพลาด รวมไปถึงความไม่ถูกต้องเหมาะสมของกระบวนการผลิตยาสมุนไพรที่ประกอบด้วยขั้นตอนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว กรรมวิธีการผลิต และการตั้งสูตรตำรับ (formulation) เป็นต้น

            มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ จากการใช้ยาสมุนไพรจีนในฮ่องกง ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ซึ่งสาเหตุของความเป็นพิษดังกล่าวจะค่อนข้างซับซ้อน อย่างไรก็ตามพอที่จะสรุปได้ว่ายาใช้ยาสมุนไพรจีนมีโอกาสเกิดพิษขึ้นได้ โดยเฉพาะการนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม

            โสม (ginseng) เป็นสารสกัดสมุนไพรจีนที่รู้จักกันดี แต่การรับประทานโสมในขนาดที่สูงเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาทและอารมณ์ แปะก๊วย (Ginkgo biloba) มีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด (platelet aggregation) จึงอาจมีความสัมพันธ์กับอาการข้างเคียงโดยเฉพาะการมีเลือดออกหรือตกเลือดผิดปกติ (spontaneous hemorrhage) ในขณะที่ฝิ่น (Papaver somniferum) ซึ่งดูเสมือนว่าจะมีความเป็นพิษสูง แต่เมล็ดของมันกลับมีอัลคาลอยด์ (opium alkaloids) ที่เป็นพิษอยู่ในปริมาณต่ำมากจนไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษอย่างรุนแรง

            จากรายงานความเป็นพิษของยาสมุนไพรจีนใน       Pharmacopoeia  of  the  People’s Republic of China ในปี  ค.ศ. 2005   พบว่า  ยาสมุนไพรจีน  59  ชนิด  ที่มาจากพืชมีความเป็นพิษ จึงต้องมีการศึกษาต่อไปถึงพิษเฉียบพลัน  และพิษเรื้อรังของยาสมุนไพรจีน   รวมถึงองค์ประกอบทางเคมีที่ทำให้เกิดพิษนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น พืชในสปีชีส์ Aconitum ที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในยาสมุนไพรจีนมักทำให้เกิดพิษ โดยพบว่าอัลคาลอยด์ (diterpenoid alkaloids) ที่แยกได้จากพืชชนิดนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดพิษ ต่อมาพบว่า aristolochic acid เป็นสารประกอบที่เป็นพิษต่อไต จากการแบ่งกลุ่มองค์ประกอบทางเคมีของยาสมุนไพรจีนที่เป็นพิษ 59 ชนิด มีสารประกอบที่เป็นพิษจำนวน 121 ชนิด สามารถแบ่งตามกลุ่มสารได้ ดังนี้ alkaloids, terpenes, coumarins และ proteins (รูปที่ 1)
รูปที่ 1:  การแบ่งกลุ่มสารประกอบที่เป็นพิษในยาสมุนไพรจีน

            เนื่องจากความเป็นพิษที่พบในรายงานดังกล่าวข้างต้น จึงควรมีมาตรการการควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทุกชนิด นอกจากนี้เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของยาที่แตกต่างกันก็มีผลเพิ่ม  หรือลดปริมาณของสารประกอบที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพหรือสารประกอบที่ทำให้เกิดพิษ           รวมถึงความแตกต่าง          ในการนำส่งสาระสำคัญที่มีผลต่อชีวประสิทธิผลของยา (bioavailability) ในขณะที่เป้าหมายการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันจะมีผลต่อประสิทธิภาพของสารสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยาสมุนไพรมีองค์ประกอบทางเคมีที่หลากหลาย จึงยากต่อการวิเคราะห์หาชนิดของสารสำคัญที่อยู่ทั้งหมด  รวมถึงปริมาณของสารสำคัญที่มีอยู่จริง ทั้งนี้ยาสมุนไพรบางชนิดยังไม่มีการระบุชนิด และปริมาณของสมุนไพรตามความเป็นจริงด้วย โดยเฉพาะยาสมุนไพรจากจีนและอินเดีย สาเหตุหนึ่งของการปนเปื้อนในยาสมุนไพร คือ โลหะหนัก ซึ่งมีที่มาจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เป็นต้น เคยมีรายงานว่ายาสมุนไพรจากจีนและอินเดียมีการปนเปื้อนของตะกั่ว (Pb) ปรอท (Hg) และสารหนู (As) ในระดับที่สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด และก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อผู้บริโภค มีรายงานว่ายาสมุนไพรบางชนิดมักมีการปลอมปนด้วยยาแผนปัจจุบัน  เพื่อให้การออกฤทธิ์ดีขึ้น   ยาแผนปัจจุบันที่นิยมนำมาปลอมปนในยาสมุนไพร ได้แก่

Acetaminophen (paracetamol)
Aminopyrine
Caffeine
Carbemazepine
Chlorzoxazone
Clobetasol propionate
Dexamethasone
Diazepam
Diclofenac
Ethoxybenzamide
Fluocinolone acetonide
Glibenclamide
Hydrochlorothiazide
Hydrocortisone
Indomethacin
Mefenamic acid
Methylsalicylate
Phenacetin
Phenylbutazone
Phenytoin
Valproate

ข้อควรระวัง
         ข้อควรระวังอย่างหนึ่งในการใช้ยาสมุนไพร คือ อันตรกิริยาระหว่างยา ที่จะนำไปสู่การเกิดความเป็นพิษหรือการสูญเสียประสิทธิภาพทางการรักษา สิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอันตรกิริยาระหว่างยา คือ องค์ประกอบทางเคมีของยาสมุนไพร ที่มีผลต่อเอนไซม์ การนำส่งยา และการดูดซึมยาในระบบทางเดินอาหาร

          แปะก๊วย  เป็นตัวอย่างหนึ่งของอันตรกิริยาระหว่างยา  ที่พบในยาสมุนไพร ใบแปะก๊วย (ginkgo)      มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดโรค    ที่มีการทำลายของเซลล์ประสาทในสมอง (neurodegenerative disorders)  หูอื้อ (tinnitus)  ต้อหิน (glaucoma) บางชนิด  และโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (peripheral vascular disease) เป็นต้น  สารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพในใบแปะก๊วย  คือ  terpene lactones, ginkgolides A, B  และ C และ bilobabides ในปัจจุบัน ได้มีการนำสารสกัดจากใบแปะก๊วย  มาใช้รักษาความผิดปกติในการทำงานของสมอง   (cerebral dysfunctions)   ที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมตามวัย (brain aging) และภาวะเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง (neurodegenerative dementia) อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากสารสกัดใบแปะก๊วยมีฤทธิ์ยับยั้ง  P-gp function ในหลอดทดลอง    จึงคาดว่าสารสกัดอาจมีผลต่อการดูดซึมยา   ในระบบทางเดินอาหาร มีรายงานว่า  แปะก๊วยมีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกผิดปกติ (bleeding)  ยิ่งไปกว่านั้น    แปะก๊วยยังเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับยาบางชนิด     เช่น    warfarin    หรือ ticlopidine ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ CYP2C9

          เทียนเกล็ดหอย (psyllium) ได้มาจากพืช Plantago ovata ประกอบด้วยใยอาหาร (alginate fiber)     มีส่วนช่วยในการขับถ่าย     มีฤทธิ์ลดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังมื้ออาหาร   (post-prandial glycemia)     ลดระดับคอเลสเตอรอล     และลดอาการอักเสบ อย่างไรก็ตาม    ใยอาหารจะมีผลยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร   ในระบบทางเดินอาหารด้วยกลไกการเกิดสารประกอบเชิงซ้อน    (chelating mechanism)     นอกจากนี้ใยอาหารยังมีผลลดการดูดซึมยาบางชนิด  เช่น  ยาลดระดับคอเลสเตอรอล  lovastatin เป็นต้น

            จากที่กล่าวมาข้างต้น   จะเห็นได้ว่า   ยาสมุนไพรมีทั้งคุณประโยชน์และโทษ   ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ยาสมุนไพรอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้มีคำแนะนำในการใช้ยาสมุนไพรอย่างปลอดภัย ดังนี้

            1. ต้องคำนึงไว้เสมอว่ายาสมุนไพรเป็นยารักษาโรคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
            2. ใช้ยาสมุนไพรตามขนาดที่กำหนด
            3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
            4. ควรปรึกษาแพทย์หรือแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังรับประทานยาสมุนไพร
            5. ระวังและหลีกเลี่ยงการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับยาสมุนไพร
            6. ระวังการปนเปื้อนของสารพิษ โลหะหนัก และยาแผนปัจจุบัน
            7. ควรเลือกซื้อยาสมุนไพรจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน
            8. เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาสมุนไพรควรหยุดใช้ทันทีและรีบไปพบแพทย์
            9. ไม่ควรใช้ยาสมุนไพรในเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
 
สรุป

            ยาสมุนไพร มีองค์ประกอบทางเคมีที่ซับซ้อน จึงยากที่ทราบถึงชนิดและปริมาณของสารออกฤทธิ์ ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ การปนเปื้อนจากโลหะหนักและสารพิษ รวมทั้งการปลอมปนยาแผนปัจจุบันในยาสมุนไพร ก็นับว่าเป็นปัญหาสำคัญในการนำยาสมุนไพรมาใช้รักษาโรค ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค   จึงควรต้องมีการควบคุมคุณภาพยาสมุนไพร  ทั้งนี้ผู้บริโภค  จะต้องคำนึงถึงข้อควรระวัง ในการนำยาสมุนไพรไปใช้รักษาโรคต่าง ๆ ด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น