วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความรู้ประชาชน...หลายคำถามกับยาสีฟัน

ยาสีฟัน (Dentifrices) ทพญ. สาครรัตน์ คงขุนเทียน
ยาสีฟัน คือ สารที่ช่วยในการทำความสะอาดฟัน ใช้ร่วมกับการแปรงฟัน หากแปรงฟันโดยไม่ใช้ยาสีฟัน อาจทำให้ขาดความรู้สึกสดชื่นหลังการแปรงฟัน
วัตถุประสงค์ของการใช้ยาสีฟัน คือ ช่วยให้การทำความสะอาดฟันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยช่วยในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ เศษอาหาร และคราบสะสมต่าง ๆ บนตัวฟัน รวมทั้งบนลิ้นและเหงือกด้วย นอกจากนั้นยังสามารถป้องกันฟันผุ เหงือกอักเสบ ลดอาการเสียวฟัน หรือขัดคราบบุหรี่ ช่วยให้ฟันขาวได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนประกอบพิเศษที่เพิ่มเติมเข้าไปในในยาสีฟัน
องค์ประกอบหลักของยาสีฟัน ได้แก่
1. ผงขัด (abrasives) เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ช่วยในการขัดผิวฟัน โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวฟัน แต่ทำให้เกิดพื้นผิวที่เรียบ ซึ่งจะช่วยทำให้การเกิดคราบสะสมบนตัวฟันช้าลง ปัจจัยที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับผงขัด ได้แก่ ความแข็งของผงขัด ขนาดของอนุภาค และรูปร่างของอนุภาค
2. สารที่ทำให้เกิดฟอง (detergents) เป็นสารที่ช่วยแรงตึงผิว สามารถแทรกซึมและทำให้สิ่งที่
3. เกาะบนผิวฟันหลุดลอกออก ง่ายต่อการกำจัดด้วยแปรงสีฟัน ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ทำปฏิกิริยาได้แม้ในสภาพที่เป็นกรดหรือด่าง และมีความคงตัว
4. สารที่ทำให้เกิดการรวมตัว (binder หรือ thickeners) เป็นสารที่ป้องกันการแยกตัวขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นของแข็งออกจากของเหลว ในช่วงที่เก็บรักษา ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย มีความคงตัวและเข้ากันกับองค์ประกอบอื่น ๆ ในยาสีฟันได้
5. สารรักษาความชื้น (humectant) เป็นสารที่ช่วยรักษาความอ่อนนุ่มของยาสีฟัน ป้องกันการแข็งตัวขณะที่สัมผัสอากาศ ช่วยในการคงตัวของยาสีฟัน ไม่มีพิษต่อร่างกาย
6. สารกันบูด (preservation) เป็นสารที่ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์
7. สารแต่งสี (coloring agents) เป็นสีที่เติมเข้าไปในยาสีฟัน ทำให้มีความน่าใช้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดการติดสีบนตัวฟันและเนื้อเยื่อในช่องปาก และไม่ทำให้วัสดุบูรณะเปลี่ยนสีไป สารที่ใช้ ได้แก่ สีที่ได้จากพืช
8. สารแต่งกลิ่น (flavoring agents) เป็นสารที่ทำให้ยาสีฟันมีกลิ่นหอม เพิ่มความน่าใช้ และกลบกลิ่นของสารอื่นที่ไม่พึงประสงค์ในยาสีฟัน ไม่ควรมีกลิ่นเปลี่ยนไปในระหว่างขั้นตอนการผลิตและในขณะเก็บ รวมทั้งควรเข้ากันกับองค์ประกอบอื่น ๆ ของยาสีฟันได้
9. สารให้ความหวาน (sweeteners) เป็นสารที่ให้ยาสีฟันมีรสหวาน เพื่อให้ผู้ใช้พึงพอใจ ยาสีฟันส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟันสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ จะถูกปรุงแต่งให้มีรสหวานแต่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ เนื่องจากสารที่ให้ความหวานที่ผสมลงไป มักเป็นสารสังเคราะห์ หรือสารที่ได้จากธรรมชาติที่ไม่ทำให้เกิดฟันผุ เช่น ซอร์บิทอล (sorbitol) กลีเซอรอล (glycerol) และไซลิทอล (xylitol) เป็นต้น


ปัจจุบันนี้แบ่งยาสีฟันออกเป็นหลายประเภท ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ได้แก่
1. ยาสีฟันสำหรับป้องกันฟันผุ ยาสีฟันประเภทนี้มีส่วนผสมที่สำคัญ คือ ฟลูออไรด์ ความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่สามารถยับยั้งฟันผุได้ดี คือ 1000 ส่วนในล้านส่วน (1000 ppm)
2. ยาสีฟันที่ลดการสะสมคราบจุลินทรีย์และลดการอักเสบของเหงือก ยาสีฟันชนิดนี้มักมีสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งจุลชีพผสมอยู่ ได้แก่ สารสกัดจากพืชสมุนไพรหรือน้ำมันระเหยได้จากพืช (essential oil) และ ไตรโคลซาน (triclosan) เป็นต้น
3. ยาสีฟันที่ใช้ลดอาการเสียวฟัน ส่วนผสมที่สำคัญในยาสีฟันประเภทนี้ ได้แก่ โปแทสเซียม (potassium) สตรอนเทียม (strontium) และ ฟลูออไรด์ เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเสียวฟัน เนื่องจากผู้ที่มีอาการเสียวฟันมักจะละเว้นการแปรงฟันในบริเวณที่เสียวฟัน อันจะนำไปสู่การสะสมคราบจุลินทรีย์ และก่อให้เกิดโรคต่อไป
4. ยาสีฟันที่ช่วยยับยั้งการเกิดหินน้ำลายหรือหินปูน เป็นยาสีฟันที่มีสารที่ช่วยลดการสร้างผลึกแคลเซียมฟอสเฟตในคราบจุลินทรีย์ เช่น เกลือไพโรฟอสเฟต (pyrophosphate salt) เกลือของซิงค์ (zinc salt) เช่น ซิงค์คลอไรด์ (zinc chloride) หรือ ซิงค์ไนเตรท(zinc citrate) เป็นต้น
5. ยาสีฟันที่ช่วยให้ฟันขาว เป็นยาสีฟันที่ผสมสารที่ฟอกสีหรือขจัดคราบสีบนตัวฟันได้ เช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) และ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogenperoxide) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารพวกซิลิกา (silica) และเซอร์โคเนียม (zirconium) ซึ่งเป็นผงขัดที่หยาบช่วยขัดฟันได้ รวมทั้งสารพวกโพลีไวนิลไพโรลิโดน (polyvinyl pyrrolidone) หรือ พีวีพี คอมเพล็กซ์ (PVP complex) ที่ทำให้คราบต่าง ๆ เช่น คราบบุหรี่ ที่ติดบนตัวฟันละลายน้ำได้ดีขึ้น ทำให้ถูกกำจัดออกได้ง่าย
6. ยาสีฟันสมุนไพร เป็นยาสีฟันที่มีองค์ประกอบเป็นสารสกัดจากพืชธรรมชาติ มักออกฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรียในช่องปากได้ จึงลดอาการเหงือกอักเสบลงได้
ยาสีฟันที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด มีหลายรูปแบบ ได้แก่
1. ยาสีฟันชนิดผง ยาสีฟันแบบนี้มีขนาดของผงขัดที่ค่อนข้างหยาบ หากใช้ร่วมกับการแปรงฟันที่ผิดวิธี เช่น การแปรงแบบถูไปมาในแนวนอน อาจทำให้คอฟันสึกได้
2. ยาสีฟันชนิดครีม เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด มีขนาดของผงขัดที่พอดี สามารถขจัดคราบจุลินทรีย์บนผิวฟันได้โดยไม่ก่อให้เกิดการสึกของเคลือบฟัน
3. ยาสีฟันชนิดเจล ยาสีฟันแบบนี้มีขนาดของผงขัดที่ละเอียดกว่าแบบครีม เหมาะกับผู้ที่มีภาวะเสียวฟัน
เรื่องน่ารู้จากโฆษณา
• ยาสีฟันช่วยลดอาการเสียวฟันได้ภายใน 7 วันจริงหรือ
คำตอบก็คือ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ยาสีฟันที่มีโปแทสเซียมเป็นส่วนผสมจะลดอาการเสียวได้ใน 7 วัน ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกที่ทำให้รู้สึกเสียวฟัน ว่าเกิดจากการที่ท่อของเนื้อฟันหรือรากฟันเปิดออกสู่สิ่งแวดล้อม (เช่น ภาวะที่มีเหงือกร่น รากฟันโผล่) เมื่อมีสิ่งเร้า เช่น ความร้อน ความเย็น หรือ การสัมผัส มากระตุ้น จะทำให้เกิดการเคลื่อนของของเหลวที่อยู่ในท่อเนื้อฟัน ซึ่งจะไปกระตุ้นประสาทรับสัมผัสในตัวฟันอีกที และเกิดการส่งกระแสประสาทไปยังสมองทำให้รู้สึกเสียวฟัน การใช้ยาสีฟันชนิดนี้สามารถลดอาการเสียวฟันลงได้ โดยโปแทสเซียมซึ่งเป็นสารที่มีประจุเป็นบวกจะทำให้การส่งกระแสประสาทลดลง ทำให้อาการเสียวลดลงตั้งแต่เริ่มใช้แต่ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกได้อย่างชัดเจนภายในเวลาประมาณ 7 วัน และอาการเสียวจะลดลงเกือบทั้งหมดหลังจากใช้เป็นประจำต่อเนื่องถึงสัปดาห์ที่ 4
• มียาสีฟันที่ช่วยระงับกลิ่นปากได้ตลอดคืนจริงหรือ ทำได้อย่างไร
เมื่อคนเราตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้า มักรู้สึกว่ามีกลิ่นปาก ทั้ง ๆ ที่ก่อนนอนได้แปรงฟัน ทำความสะอาดฟันเป็นอย่างดีแล้ว สาเหตุที่มีกลิ่นปากนั้นเนื่องจากในช่องปากของมนุษย์มีแบคทีเรียเจริญอยู่ได้เป็นปกติ เรียกได้ว่าเป็นเชื้อประจำถิ่นในช่องปากนั่นเอง พบได้บนผิวฟัน รากฟัน ในร่องเหงือก บนวัสดุบูรณะฟัน ฟันปลอม เนื้อเยื่อในช่องปาก และลิ้น ดังนั้นแม้ว่าก่อนนอนได้แปรงฟันไปแล้ว แต่แบคทีเรียจะยังคงมีอยู่ในช่องปาก อาจอยู่ในคราบจุลินทรีย์ที่ตกค้างตามซอกฟันที่ทำความสะอาดไม่หมด หรือบนเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่องปาก รวมทั้งน้ำลาย ในขณะที่เรานอนหลับนั้น แบคทีเรียมิได้นอนหลับไปด้วย แต่จะเจริญเติบโตต่อไปและทำให้มีกลิ่นปาก โดยเฉพาะแบคทีเรียที่สามารถก่อให้เกิดก๊าซที่มีองค์ประกอบเป็นซัลเฟอร์ (กำมะถัน)ที่ระเหยได้ (volatile sulfur compounds) ดังนั้นยาสีฟันที่มีสารที่สามารถยับยั้งแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวได้จะสามารถลดกลิ่นที่เกิดขึ้นหลังตื่นนอนได้ แต่การใช้ยาสีฟันชนิดนี้เป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น หากผู้ป่วยมีสภาวะในช่องปากที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดกลิ่นปาก เช่น มีคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายมาก มีวัสดุบูรณะที่ไม่ดี หรือมีแหล่งสะสมแบคทีเรียในช่องปากที่ไม่ได้รับการแก้ไข เป็นต้น ก็จะไม่สามารถกำจัดกลิ่นปากได้อย่างถาวร
• ยาสีฟันป้องกันเกิดหินน้ำลายหรือหินปูนได้อย่างไร
สารที่ช่วยยับยั้งการเกิดหินน้ำลายที่ถูกผสมในยาสีฟัน เป็นสารที่ลดการเจริญของผลึกแคลเซียมฟอสเฟตในคราบจุลินทรีย์ที่อยู่เหนือเหงือก โดยไพโรฟอสเฟตที่มีประจุลบจะไปดึงดูดกับประจุบวกของแคลเซียม ทำให้รบกวนการสร้างหินน้ำลาย เพราะไม่เกิดการสร้างแคลเซียมฟอสเฟต (calcium phosphate) ขึ้น นอกจากนั้นยังมีซิงค์ (ธาตุสังกะสี) ที่มีประจุเป็นบวก ที่สามารถจับกับประจุลบของฟอสเฟตได้ ทำให้ลดการสร้างแคลเซียมฟอสเฟตที่เป็นองค์ประกอบของหินน้ำลายได้ ยาสีฟันประเภทนี้จึงลดการเกิดหินน้ำลายได้
• ยาสีฟันบางชนิดเสริมสร้างความแข็งแรงให้ฟันได้จริงหรือ
ความแข็งแรงของฟันนั้น เริ่มตั้งแต่คนเราเริ่มมีการสร้างหน่อฟันในวัยเด็ก มีการสะสมแคลเซียมในเนื้อฟันและเคลือบรากฟันจากภายใน มิใช่มีการเสริมสร้างเพิ่มเติมมาในภายหลัง ดังนั้นการใช้ยาสีฟันที่ทำให้มีการตกผลึกเป็นฟลูออโร-อะพาไทท์จึงไม่ได้ทำให้ฟันแข็งแรงจากเนื้อในของฟัน


ผู้ประกาศ : คณะทำงานการสื่อสารกับประฃาฃน
แก้ไขล่าสุด : 06 กุมภาพันธ์ 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น