วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ใส่ใจ “ยาสีฟัน” สักนิดก่อนคิดแปรงฟัน

     ยาสีฟันเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เราต้องใช้เป็นประจำทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง อย่างน้อยก็ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้าและก่อนเข้านอน แต่มีอีกหลายคนที่ใช้ยาสีฟันบ่อยครั้งกว่านั้น โดยเฉพาะการแปรงฟันหลังรับประทานอาหาร
ยาสีฟันมีความสำคัญในการเข้ามาช่วยเราทำความสะอาดและกำจัดคราบแบคทีเรีย หรือ “ขี้ฟัน” ที่เกาะบนผิวฟัน หากเราไม่ได้แปรงฟัน แบคทีเรียและจุลินทรีย์จะย่อยเศษอาหารที่ตกค้างอยู่บนผิวฟัน โดยเฉพาะแป้งและน้ำตาลจะถูกย่อยสลายเป็นกรดอย่างรวดเร็ว และกัดกร่อนเนื้อฟันของเราทำให้เกิดฟันผุตามมา การแปรงฟันจึงช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้
ในยาสีฟันมีส่วนผสมหลายชนิดที่ช่วยให้เรารู้สึกว่าฟันสะอาด ลมหายใจสดชื่น ซึ่งส่วนผสมที่นำมาใช้ในยาสีฟันนี้จะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน และอาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก รวมถึงอวัยวะอื่นของร่างกายได้ ผู้บริโภคจึงต้องใช้ยาสีฟันให้ถูกวิธี โดยเฉพาะเด็กจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลกระทบตามมาได้
ส่วนประกอบพื้นฐานของยาสีฟัน
ยาสีฟันยี่ห้อต่างๆ ที่วางจำหน่ายทั่วไป มีส่วนผสมพื้นฐานสำคัญ 2 อย่าง คือ
1. ฟลูออไรด์ เป็นสารสำคัญที่ช่วยป้องกันฟันผุ โดยจะทำหน้าที่เคลือบฟันไว้ เพื่อป้องกันการกัดกร่อนของกรดที่เกิดจากแบคทีเรีย รวมทั้งกรดในอาหารด้วย ฟลูออไรด์ที่นิยมใช้ได้มาจากโซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟต (Sodium monofluorophosphate) หรือโซเดียมฟลูออไรด์ (Sodium fluoride) ซึ่งต้องใช้ในปริมาณที่กำหนด โดยปริมาณที่จำกัดให้มีได้อยู่ที่ 1,000-1,100 ppm
อย่างไรก็ตาม “โซเดียมฟลูออไรด์” ถือเป็นสารอันตรายหากใช้ในปริมาณมากเกินกว่าที่กำหนด เมื่อสารนี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะเกิดผลกระทบต่อระบบอวัยวะต่างๆ เช่น
- การสัมผัสทางผิวหนัง จะทำให้เกิดการระคายเคือง มีผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน แผลไหม้ แผลพุพอง และทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่สัมผัสถูกทำลาย
- การกินหรือกลืนเข้าไป จะทำให้เจ็บคอ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวในท้อง ความดันโลหิตลดลง อ่อนเพลีย สมองและไตถูกทำลาย หากได้รับในปริมาณมาก 5-10 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้
- การสัมผัสถูกตา จะทำให้เกิดการระคายเคือง ตาแดง เจ็บตา สายตาพร่ามัว และอาจทำให้ตาบอดได้
- การสัมผัสสารเป็นเวลานาน จะทำให้เกิด การหายใจติดขัด ไอ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น และเกิดภาวะลำตัวเขียวคล้ำเนื่องจากขาดออกซิเจน
- การได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมากเกินไป ทำให้ฟันตกกระ (Enamel Fluorosis) หากรุนแรงมากผิวฟันจะขรุขระ เกิดรอยสีน้ำตาลเป็นจุด ส่งผลให้ทำ ความสะอาดได้ยาก ส่วนใหญ่มักเกิดกับฟันแท้ของเด็กที่บริโภคฟลูออไรด์มากเกินไป เนื่องจากเด็กบางคนชอบรสชาติของยาสีฟันผสมฟลูออไรด์
ส่วนความเป็นอันตรายของ “โซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟต” หากได้รับเกินกว่า 570 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะก่อให้เกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัส กลืนกิน หรือหายใจเข้าไป ก่อให้เกิดการระคายเคืองตา น้ำตาไหลคันตา ตาแดง คันผิวหนัง เป็นผื่นแดง อาจทำให้เป็นแผลพุพอง และตกสะเก็ด
2. สารขัดฟัน (Abrasives) ใช้เพื่อกำจัดรอยเปื้อนและคราบหินปูน โดยทั่วไปนิยมใช้แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) และแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) มีลักษณะเป็นผงละเอียด ซึ่งต้องผสมในยาสีฟันในปริมาณมากพอที่จะกำจัดรอยเปื้อน และคราบหินปูนได้ แต่หากใช้มากเกินไปอาจทำลายสารเคลือบฟัน
ส่วนอันตรายที่อาจได้รับจาก “แคลเซียมฟอสเฟต” มีหลายประการ เช่น
- การสัมผัสทางการหายใจ ทำให้ระคายเคืองจมูกและคอ หากสารมีความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดการไอระคายเคืองชั่วคราว แต่หากสัมผัสสารที่มีความเข้มข้นสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีเยื่อเมือกเพิ่มขึ้นในจมูกและทางเดินหายใจ อาการเหล่านี้จะหายไปได้ก็ต่อเมื่อหยุดสัมผัสสาร แต่หากยังได้รับสารต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ
- การสัมผัสถูกตา จะทำให้เกิดการระคายเคืองตา ปวดตาชั่วคราว และน้ำตาไหล
ป้องกันอันตรายจากยาสีฟัน
อันตรายจากยาสีฟันส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็ก หรือผู้ที่ใช้ยาสีฟันในปริมาณมาก ทำให้ได้รับสารมากเกินไป ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องใส่ใจการแปรงฟันของเด็กเป็นพิเศษ ควรดูแลเด็กขณะแปรงฟันและใช้ยาสีฟันอย่างถูกต้อง อย่าให้เด็กเผลอกลืนกินยาสีฟันอย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
นอกจากนั้น ผู้ปกครองต้องจำกัดปริมาณการใช้ยาสีฟันในเด็กให้เหมาะสม หากให้เด็กใช้ยาสีฟันหลอดเดียวกันกับผู้ปกครอง ควรให้ใช้ในปริมาณน้อย เช่น ให้ใช้ยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว หรือป้ายยาสีฟันบางๆ ลงบนแปรงสีฟันเด็ก
เลือกซื้อยาสีฟันอย่างไรให้ปลอดภัย
เพื่อความมั่นใจเมื่อจะเลือกซื้อยาสีฟัน ควรสังเกตฉลากก่อนทุกครั้งว่า มีการระบุ “เป็นสารควบคุมพิเศษ” หรือไม่ ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับเรียบร้อยแล้วหรือยัง หากผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วจะมีเลขทะเบียนในกรอบเครื่องหมาย อย. ใกล้กับข้อความเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ” รวมทั้งต้องมีข้อความจำเป็นอื่น ๆ ให้ครบถ้วน เช่น ชื่อ ชนิด ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้มาตรฐาน
แม้ยาสีฟันจะมีประโยชน์ช่วยปกป้องสุขภาพ ช่องปากและฟันของเรา แต่อย่าลืมว่าหากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้อย่างไม่เหมาะสม ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของเราได้ การใส่ใจในการเลือกยาสีฟันให้เหมาะกับตัวเราจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยให้เรามีสุขภาพช่องปากที่ดี และไม่ต้องเสี่ยงกับผลกระทบด้านสุขภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น